นักศึกษาราชภัฏอุดรธานี “จิตสาธารณะ” คว้ารางวัลระดับภาค (29 ก.ย. 62)

นักศึกษาราชภัฏอุดร “จิตสาธารณะ” คว้ารางวัลโครงการเพื่อสังคม ที่ มมส.

Website: https://www.udru.ac.th/website/index.php/featured-articles/17-udru-news/around-udru/245-oct-09-2019-c.html

72439278_476213522965322_8583117070151974912_n

นักศึกษาราชภัฏอุดรธานีร่วมงานประกวดโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม ที่มมส. มีนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วภาคอีสานเข้าร่วมประชันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง งานนี้นับเป็นการเปิดพื้นที่บ่มเพาะ “สำนึกสาธารณะ” ให้แก่คนหนุ่มสาวก้าวไปสู่การเป็น “ผู้ให้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องขอ” ท่ามกลางสังคมที่กำลังเผชิญกับภาวะความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาและสาขาวิชาศิลปกรรมพื้นถิ่น สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จำนวน 5 คน ได้นำโครงการ “นวัตกรรมสังคมเพื่อคนไร้บ้าน” จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมประกวดในโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น ซึ่งได้จัดต่อเนื่องกันมาแล้วเป็นครั้งที่8  มีนิสิตนักศึกษา ในกลุ่มชมรม และสาขาวิชาต่างๆจากรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสนใจนำโครงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 11 โครงการ อาทิเช่น โครงการอาสาสมัครลดอุบัติเหตุในชุมชน มรภ.ร้อยเอ็ด โครงการค่ายสัตวแพทย์จิตอาสา โครงการพยาบาลจิตอาสา โครงการนักกฎหมายหัวใจอาสา และโครงการค่าย HUSOC พัฒนาท้องถิ่น ม.มหาสารคามเป็นต้น ผลปรากฏว่า โครงการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครองได้อย่างน่าปลาบปลื้มใจ

71657890_2421594294780150_4193694625745076224_n

ทั้งนี้ โครงการ“นวัตกรรมสังคมเพื่อคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่น” ที่นักศึกษาได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จนั้น เริ่มต้นขึ้นในชั้นเรียนที่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในประเด็น “ความเหลื่อมล้ำในสังคมท้องถิ่นภาคอีสาน” โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่ม “คนจนเมือง” กับคนกลุ่มอื่นๆที่มีโอกาสและต้นทุนชีวิตที่ดีกว่า จากตรงจุดนี้จึงกลายเป็นประตูบานแรกที่เปิดให้นักศึกษาได้ก้าวออกไปเรียนรู้ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมกันอย่างจริงจัง และเป็นที่มาของโครงการที่ผลักดันให้เกิด “นวัตกรรมสังคม” ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อสังคม” ได้แก่ ตุงอีสาน และ สวนผักจากขวดน้ำประดิษฐ์ ที่นำไปสู่ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อลดทอนปัญหา “ภาวะความเครียด” ในกลุ่มคนไร้บ้านที่พักพิงอยู่ที่ศูนย์พักพิงบ้านโฮมแสนสุข       จ.ขอนแก่น ซึ่งกระบวนการผลิต รูปแบบ สีสัน และความหมาย ของนวัตกรรมสังคมดังกล่าวได้เข้าไปช่วย ฟื้นฟู เยียวยา และเสริมสร้างสุขภาวะให้กลุ่มคนไร้บ้านอย่างแยบคาย

71707045_408298696768820_8058890533281464320_n

ด้านนางสาววันวิสา ภูขมา นักศึกษาสาขาวิชาศิลปกรรมพื้นถิ่น สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า  การออกไปเรียนรู้นอกชั้นเรียนนับเป็นการช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความทุกข์ยากของพี่น้องที่มีชีวิตอย่างยากลำบากมาก มากไปกว่านั้นการได้นำเอาทักษะด้านศิลปะและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปลงมือปฏิบัติการร่วมกับพวกเขาและมีโอกาสนำเรื่องราวเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆพี่ๆนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยได้รับรู้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มากและควรหาทางผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“กิจกรรมนี้ทำให้หนูรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองและคุณค่าของพี่ๆคนไร้บ้านขึ้นเยอะมาก จากแต่ก่อนไม่เคยสนใจเรื่องแบบนี้มาก่อน ส่วนเรื่องรางวัลที่ได้รับก็ไม่คาดคิดมาก่อนเช่นกันว่าจะเป็นไปได้ เพราะพวกหนูใหม่กับเรื่องเหล่านี้มาก”

ด้านแพรวนภา ผิวเพ็ชร นักศึกษาสาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนา สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การเรียนรู้ในสถานการณ์จริง ได้สัมผัสความรู้สึกนึกคิด และความเดือนร้อนของคนไร้บ้านเป็นเหมือนห้องเรียนงานพัฒนาสังคมแบบหนึ่ง เช่นเดียวกันเวทีประกวดโครงการในวันนี้ก็ถือเป็นส่วนขยายการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการลงมือปฏิบัติเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องที่เดือนร้อนเหล่านั้น

“หนูรู้สึกดีใจมากที่ได้ออกไปเรียนรู้ ดีใจมากทีได้มาแลกเปลี่ยนประเด็นสังคมกับพี่ๆที่นี่ หนูคิดว่าคงมาถูกทางแล้ว และจะพยายามกระตุ้นให้ตัวเองออกไปสะสมประสบการณ์งานพัฒนาเช่นนี้ให้มากขึ้นไปอีก”

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเวทีจะยุติลง คณะกรรมการผู้จัดงานได้เรียกอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนทุกฝ่าย เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือถึงการวางแนวทางพัฒนาเวทีการประกวดและขยายเครือข่ายการเรียนรู้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆไป

นายฐากูร สรวงศ์สิริ ฝ่ายข่าวศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน

64 ถ.ทหาร สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

อีเมล์ isanmove@gmail.com